แชร์

รู้จัก “ผังเมืองกรุงเทพฯ” ความหมายของสีผังเมือง แต่ละสีบอกอะไร?

ผังเมืองกรุงเทพฯ ความหมายของสีผังเมือง แต่ละสีบอกอะไร?

คุณภาพชีวิตของเราจะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับ “ผังเมือง” คงไม่เกินจริงนัก เพราะทุกมิติการใช้ชีวิตของเราล้วนเชื่อมโยงกับโครงสร้างหลักทั้งด้านสาธารณูปโภค คมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักออกแบบ นักลงทุน หรือนักพัฒนาอสังหาฯ คงคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้คร่ำหวอดอยู่ในวงการที่ดินหรือแวดวงอสังหาริมทรัพย์ อาจมีคำถามว่าผังเมืองคืออะไร สำคัญอย่างไรกับการใช้ชีวิตของเรา

บทความนี้ชวนคุณมารู้จัก “ผังเมืองกรุงเทพฯ” ให้มากขึ้น ตั้งแต่ที่มาของผังเมือง ความหมายของการแบ่งสีผังเมืองต่างๆ ไปจนถึงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับล่าสุด 2566 (ปรับปรุงครั้งที่ 4) นอกจากตอบคำถามข้างต้นแล้ว การศึกษาผังเมืองกรุงเทพฯ จะช่วยให้ผู้ที่กำลังจะตัดสินใจลงทุน สร้างบ้าน ซื้อคอนโด หรือที่ดินเห็นโอกาส ทำเลที่เหมาะสม สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนนั้นๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ และสร้างผลตอบแทนให้กับเราได้ในอนาคตนั่นเอง จะมีส่วนไหนเปลี่ยนแปลงบ้างในผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับล่าสุด ไปดูกัน

ผังเมืองกรุงเทพฯ คืออะไร?

ผังเมืองกรุงเทพฯ คืออะไร?

ผังเมืองกรุงเทพฯ นับเป็นเครื่องมือหนึ่งของภาครัฐ ทำหน้าที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทของเขตพื้นที่ในกรุงเทพฯ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถจัดระเบียบและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็น “เข็มทิศ” บอกทิศทางการเติบโตของเมืองที่กำลังขยายออกไปในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยการแบ่งโซนการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้สอดคล้องกับความหนาแน่นของเมือง เขตพื้นที่ไหนสร้างอะไรได้บ้าง อาคารขนาดเล็กหรือใหญ่ ห้ามทำอะไร ล้วนมีกฎหมายจำกัดรูปแบบการก่อสร้างบอกไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้เพื่อให้เมืองมีความเป็นระเบียบ ปลอดภัย สะดวกสบาย ซึ่งครอบคลุมไปถึงสังคมและสภาพแวดล้อม สถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การส่งเสริมเศรษฐกิจในเขตพื้นที่ต่างๆ ให้มีการเติบโตมากขึ้น เป็นไปตามแนวคิดที่ถูกกำหนดขึ้นและสอดคล้องกับนโยบายของประเทศอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดภาพรวมของกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นมหานครที่มอบคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน

ผังเมืองกรุงเทพ

ความสำคัญของผังเมืองกรุงเทพฯ 

จากภาพรวมที่เคยเป็นมาแม่แบบผังเมืองจะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ทุก 5 ปี เพราะเมืองมีการพัฒนาและใช้ประโยชน์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่หากนับตามอายุผังเมืองฉบับปัจจุบันถูกประกาศใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว (พ.ศ. 2556) ครั้งนี้จึงเปรียบเหมือนการปรับปรุงครั้งใหญ่ของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ไว้ที่ฉบับล่าสุด 2566 (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

โดยความสำคัญของการจัดตั้งผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับล่าสุดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับป

รุงผังเมืองกรุงเทพฯ ให้มีความสอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองในปัจจุบันและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ รวมถึงลดความเลื่อมล้ำของประชากรในพื้นที่นั้นๆ ทั้งผู้มีรายได้น้อยและเด็กจบใหม่ให้สามารถมีที่อยู่อาศัยได้ในกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องขยับขยายไปอยู่พื้นที่รอบนอก และเพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ทั่วกรุงเทพฯ 

ซึ่งข้อดีของผังเมืองกรุงเทพฉบับนี้คือ ไม่มีอายุการใช้งาน แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ผังเมืองกรุงเทพยังช่วยจัดสรรให้ประชากรมีสัดส่วนที่สมดุลกันมากขึ้น เพื่อให้ทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด สามารถจัดสรรการใช้ประโยชน์ต่างๆ ของแต่ละเขตได้คุ้มค่ามากขึ้น และช่วยให้ภาครัฐสามารถวางแผนพัฒนาเขตต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสัมพันธ์กับกฎหมายข้ออื่นๆ ที่ทำให้ควบคุมได้ง่ายขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องวางผังเมือง และผังเมืองมีความสำคัญกับชีวิตของเราอย่างไร?

ผังเมืองกรุงเทพฯ มีกี่สี แต่ละสีผังเมืองบอกอะไร?

ผังเมืองกรุงเทพฯ มีกี่สี แต่ละสีผังเมืองบอกอะไร?

  • สีผังเมือง สีเหลือง

พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยมีรหัสกำกับ ย. 1 – ย. 4 เป็นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยที่มักตั้งอยู่ในแถบชานเมือง แบ่งออกเป็น ย.1-1 ถึง ย. 1-4 หมายถึงพื้นที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย ย. 2-1 ถึง ย. 2-17 รองรับการขยายตัวของการอยู่อาศัยบนสภาพแวดล้อมที่ดี ย. 3-1 ถึง ย. 3-70 เพื่อดำรงรักษาการอยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมดี และ ย. 4-1 ถึง ย. 4-40 มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับ ย. 3 แต่เน้นพื้นที่ที่อยู่ในเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน

โดยมีข้อกำหนดตามกฎหมายที่ว่า หากเป็นพื้นที่สีเหลืองรหัส ย. 1 จะสร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว, รหัส ย. 2 สร้างทาวน์เฮ้าส์ได้ และพื้นที่ ย. 3 สามารถสร้างอาคารชุดขนาดเล็กและขนาดกลางได้ เป็นต้น และได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาเป็นสถานพยาบาล, สถานสงเคราะห์(สำหรับเด็ก คนชรา สัตว์เลี้ยง), สถานศึกษา, สำนักงาน, โรงแรม, ตลาด และอาคารพาณิชยกรรมได้อีกด้วย

  • สีผังเมือง สีส้ม

พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ลดรอยต่อระหว่างพื้นที่ชานเมืองและเมืองชั้นใน เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยเช่นเดียวกับพื้นที่สีเหลือง พร้อมกับใช้ในเชิงพาณิชย์ขนาดย่อมได้ เว้นแต่ไม่สามารถสร้างสถานสงเคราะห์สำหรับสัตว์เลี้ยงได้เนื่องจากเสียงที่อาจรบกวนชุมชน การสร้างอาคารต้องมีขนาดไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร และต้องอยู่ริมถนนที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 30 เมตร แบ่งย่อยตามรหัสกำกับได้เป็น ย. 5  – ย. 7 โดยมีใจความสำคัญดังนี้

ย. 5-1 ถึง ย. 5-37 รองรับการขยายตัวของประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองชั้นใน,  ย. 6-1 ถึง ย. 6-48 มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับ ย. 5 อีกทั้งเป็นศูนย์ชุมชนชานเมือง เขตอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมไปถึงนิคมอุตสาหกรรม ในขณะที่ ย. 7-1 ถึง ย. 7-30 เน้นรองรับการอยู่อาศัยพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นในเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน

  • สีผังเมือง สีน้ำตาล

หนึ่งในโซนสีผังเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจสูง จัดอยู่ในหมวดที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นสูง สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างได้หลากหลายรูปแบบ โดยส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาโครงการอยู่อาศัยในแนวตั้งอย่างอาคารชุดย่านใจกลางเมืองเพราะมีมูลค่าการซื้อขายสูง มีรหัสกำกับย่อยที่ระบุถึงประโยชน์การใช้พื้นที่ดังนี้ 

รหัส ย. 8-1 ถึง ย. 8-26 รองรับที่พักอาศัยในเขตตัวเมืองชั้นใน ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและรักษาทัศนียภาพโดยรอบ, รหัส ย. 9-1 ถึง ย. 9-30 อยู่ในเขตระบบขนส่งมวลชนและรองรับที่พักอาศัยในเขตตัวเมืองชั้นใน และ รหัส ย. 10-1 ถึง ย. 10-13 เป็นพื้นที่ช่วงรอยต่อกับที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นใจกลางเมืองที่มีความคึกคักทางด้านเศรษฐกิจสูง อยู่ในเขตให้บริการของระบบขนส่งมวลชน และเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตที่พักอาศัยในตัวเมืองชั้นใน

  • สีผังเมือง สีน้ำตาลอ่อน

เรียกได้ว่าการใช้ประโยชน์พื้นที่ผังเมืองโซนนี้มีความแตกต่างจากสีน้ำตาลอย่างสิ้นเชิง ด้วยเพราะผังเมืองสีน้ำตาลอ่อนเป็นพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของประเทศชาติ โดยจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในบริเวณพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีรหัสกำกับย่อยคือ ศ. 1-1 ถึง ศ.1-6 เน้นส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประจำชาติและกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ในขณะที่ รหัส ศ. 2 เป็นพื้นที่สำหรับส่งเสริมกิจกรรมเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวในเขตอนุรักษ์

  • สีผังเมือง สีม่วง

พื้นที่เขตอุตสาหกรรม ทั้งการผลิต ส่งออก และคลังเก็บสินค้า คือนิยามของสีผังเมืองโซนสีม่วง แบ่งออกเป็นรหัส อ.1 สำหรับอุตสาหกรรมที่มีมลพิษน้อย, อ. 2 เน้นอุตสาหกรรมการผลิต และ อ. 3 ถูกกำหนดให้เป็นสีเม็ดมะปราง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับคลังสินค้าเพื่อการขนส่งทั่วภูมิภาคอาเซียน นอกเหนือจากอุตสาหกรรมแล้วยังสามารถใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียมขนาดเล็กได้

  • สีผังเมือง สีน้ำเงิน

หรือที่ดินที่มีรหัสกำกับย่อย ส.(ตั้งแต่ ส.- 1 ถึง ส. – 74) คือประเภทที่ดินของหน่วยงานภาครัฐและราชการที่สร้างขึ้นเพื่อสาธารณะประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด ฯลฯ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกเขตในกรุงเทพฯ รวมถึงสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ทั้งนี้ พื้นที่บางแห่งของรัฐได้มีการให้สัมปทานเอกชนทำสัญญาเช่าเพื่อประกอบธุรกิจต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า สำนักงาน หรือโครงการที่อยู่อาศัยอย่างคอมโดมิเนียม

  • สีผังเมือง สีแดง

ที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยเฉพาะ มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูง มีจุดมุ่งหมายให้เป็นย่านการค้า ศูนย์กลางทางธุรกิจ ศูนย์เพื่อการนันทนาการและบริการ รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของที่ดิน และมีข้อห้ามประกอบกิจการ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม, สุสาน, คลังสินค้า, สถานกำจัดขยะ, สถานที่บรรจุเชื้อเพลิง, เพาะเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า เป็นต้น มีรหัสกำกับย่อย พ. (ตั้งแต่ พ.1-1 ถึง พ.5-7) 

  • สีผังเมือง สีเขียว

พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมและชนบท และถึงแม้จะเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรก็ยังได้รับการสนับสนุนให้เป็นที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน โดยแต่ละแปลงที่ดินต้องมีขนาดเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000 ตารางวาขึ้นไป ซึ่งมีการแบ่งย่อยตามรหัสกำกับ คือ รหัส ก.4-1 ถึง ก.4-38 เป็นพื้นที่สำหรับส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ และรหัส ก.5-1 ถึง ก.5-13 เป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการให้บริการทางสังคม รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจและเกษตรกรรมสำหรับชุมชนแถบชนบท  

  • สีผังเมือง สีขาวทแยงเขียว

เป็นตัวแทนพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และมีหน้าที่สำคัญคือการรองรับน้ำให้เมือง มาพร้อมรหัสกำกับย่อยและความหมายที่แตกต่างคือ รหัส ก.1-1 ถึง พ.1-16 เน้นพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยหรือมีข้อจำกัดเรื่องการระบายน้ำ รหัส ก. 2-1 ถึง พ.2-13 ส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่เกษตรกรรมของชนบท และรหัส ก. 3-1 ถึง พ.3-2 ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งน้ำเค็มและน้ำกร่อย   

ทั้งหมดนี้คือผังเมืองกรุงเทพฉบับล่าสุด (ฉบับปรับปรุงที่ 4) ที่ทางเรารวบรวมข้อมูลมาฝาก เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับผังเมืองกรุงเทพฯ ความสำคัญของผังเมืองกรุงเทพ รวมถึงสีผังเมืองที่ถูกระบุเอาไว้ในผังเมืองกรุงเทพว่ามีความหมายและบ่งบอกถึงอะไร

อย่างไรก็ตาม ผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับใหม่นี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการร่าง และแม้จะจัดประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองอย่างรัดกุมและครอบคลุมที่สุด โดยคาดว่าจะประกาศใช้ฉบับสมบูรณ์ได้ภายในปี 2568 แต่เราทุกคนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นในการวางผังเมืองกรุงเทพฯ ได้ด้วยการยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตนเอง หรือยื่นบนเว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 

ส่วนใครที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดพร้อมอยู่ หรือมองหาทำเลธุรกิจในช่วงนี้ แนะนำให้โหลดแอปพลิเคชัน ‘Check ผังเมือง กทม.’ ที่ช่วยให้มองเห็นเขตรอยต่อของการปรับผังพื้นที่สีผังเมืองต่างๆ และโอกาสน่าลงทุนในแวดวงอสังหาฯ ที่กำลังเดินทางมาถึงเร็วๆ นี้ได้อย่างชัดเจน

แท็กที่เกี่ยวข้อง