แชร์

7 ความเชื่อในพิธีแต่งงานไทย รู้ไว้ช่วยเสริมมงคล

7 ความเชื่อในพิธีแต่งงานไทย รู้ไว้ช่วยเสริมมงคล

ขึ้นชื่อว่าพิธีแต่งงานไทย รายละเอียดย่อมมีเยอะมาก นอกจากจะมีลำดับขั้นตอนพิธีงานแต่งที่หยุมหยิมไปหมดแล้ว ยังจะมีเรื่องของความเชื่อในพิธีอีกด้วย ซึ่งบางคนอาจจะพอรู้เกี่ยวกับความเชื่อในพิธีแต่งงานกันมาบ้างแล้ว ที่มีส่วนในการจัดพิธี รวมถึงความเชื่อในพิธีแต่งงานที่ยังแฝงไปด้วยนัยยะความหมายบางอย่างเอาไว้ เพื่อให้คู่บ่าวสาวตระหนักถึงความสำคัญในการครองชีวิตคู่ และเพื่อเป็นสิริมงคลให้คู่บ่าวสาวได้ครองรักกันไปอย่างยาวนาน แล้วความเชื่อที่ว่านั้นมีอะไรบ้างล่ะ ถ้าอยากรู้แล้ว ไปดูกันค่ะ

  1. การรดน้ำสังข์

แน่นอนว่าองค์ประกอบที่สำคัญในพิธีแต่งงานแบบไทย พิธีรดน้ำสังข์เป็นอะไรที่ขาดไม่ได้เลย เพราะมีความเชื่อกันว่าหลังจากที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวทำพิธีรดน้ำสังข์กันเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากฝ่ายไหนลุกขึ้นยืนก่อน มีความเชื่อกันว่า ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือคู่ครองของตน ฟังดูคล้าย ๆ กับการจับมือเวลาตัดเค้กแต่งงานเลยนะคะ ซึ่งหากใครอยากแก้เคล็ด ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น แก้ไขได้โดย ให้คู่บ่าวสาวช่วยกันประคองอีกฝ่ายให้ลุกขึ้นพร้อมกัน ซึ่งจะได้มีความหมายไปในทางที่ดีว่า คนทั้งคู่จะช่วยกันประคับประคองชีวิตไปด้วยกัน

  1. ฤกษ์แต่งงานมงคล

พิธีแต่งงานจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีฤกษ์มงคล การตรวจเช็คฤกษ์วันให้ครบถ้วน เป็นการถือเคล็ดเกี่ยวกับฤกษ์แต่งงานมงคลว่า ถ้ายิ่งเป็นงานมงคลเท่าไหร่ การเริ่มต้นชีวิตคู่ก็จะดีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

  1. ขบวนขันหมาก

ขบวนขันหมากถือว่าเป็นสีสันของพิธีแต่งงานไทย ตามความเชื่อแล้วจะให้ผู้ใหญ่ที่เจ้าบ่าวให้ความเคารพ และเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว เป็นคนนำขบวนขันหมาก เพราะมีความเชื่อว่าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ เช่นเดียวกับคนนำขบวนขันหมาก  และอีกความเชื่อเกี่ยวกับขบวนขันหมาก พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวไม่ควรเผชิญหน้ากับขบวนแห่ขันหมาก ด้วยเชื่อว่าอาจมีเรื่องกันในอนาคต

  1. มาลัยคล้องคอของบ่าวสาว

ถ้าพูดถึงสัญลักษณ์ในพิธีแต่งงานไทย ก็ต้องมาลัยคล้องคอบ่าวสาว สมัยโบราณมีความเชื่อว่า จะต้องไม่เปลี่ยนมาลัยที่ใช้ พูดง่าย ๆ คือ มาลัยคล้องคอจะต้องเป็นพวงเดียวกันทั้งในงานพิธีแต่งงานช่วงเช้าและช่วงเย็น นั่นเป็นเพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น ไม่มีเรื่องทะเลาะกัน หรือมีเหตุให้เลิกรากัน หลังเสร็จสิ้นพิธีคู่บ่าวสาวสามารถถอดมาลัยเองได้เลย แล้วนำไปเก็บไว้ที่ข้างเตียง หรือจะเก็บเป็นดอกไม้แห้งแล้วนำไปใส่กรอบ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นที่ระลึกก็ได้

  1. มงคลแฝดสวมศีรษะ

ในงานพิธีแต่งงานไทย เมื่อมีมาลัยคล้องคอแล้ว อีกหนึ่งไอเท็มที่มาคู่กัน นั่นคือ มงคลแฝดสวมศีรษะ โดยความเชื่อของมงคลแฝดสวมศีรษะตอนทำพิธีรดน้ำสังข์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คู่เจ้าบ่าวเจ้าสาว ว่าเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แคล้วคลาดจากกัน โดยในอดีตผู้ที่สวมมงคลนี้จะเป็นพระสงฆ์ ที่มาเป็นประธานเป็นคนสวมและเจิมหน้าผากให้ แต่เนื่องจากว่าพระสงฆ์ไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวสีกาได้ พระสงฆ์จึงต้องจับมือเจ้าบ่าวเพื่อเจิมให้เจ้าสาว แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนให้ประธานในงาน มาสวมมงคลแฝดและเจิมหน้าผากให้บ่าวสาวแทนเพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น

  1. พิธีสวมแหวน

ขั้นตอนที่สำคัญและดูจะเป็นไฮไลท์ในพิธีแต่งงาน ก็ต้องเป็นพิธีสวมแหวนนั่นเอง ว่ากันว่าตอนเจ้าสาวสวมแหวนให้เจ้าบ่าว หากทำแหวนหล่นหรือสวมแหวนแล้วไม่สุด เชื่อกันว่าเจ้าสาวจะมีอำนาจเหนือกว่าเจ้าบ่าวนั่นเอง

  1. พิธีปูที่นอน

ในความเชื่อเรื่องพิธีแต่งงานของคนไทยตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะขั้นตอนพิธีไหน การเชิญผู้ให้ที่ให้ความเคารพ หรือประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพิธีปูที่นอนเองก็เช่นกัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้คู่บ่าวสาวครองเรือนกันอย่างมีความสุขและยาวนาน เช่นเดียวกับผู้ที่การปูที่นอนให้

ไม่ว่าความเชื่อในพิธีแต่งงานจะเป็นอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือการไม่ไปลบหลู่ และควรปฏิบัติตามเพื่อถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการครองชีวิตคู่

แท็กที่เกี่ยวข้อง