6 เทคนิครับมืออากาศร้อน – เดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่หลายคนจะได้ออกไปเที่ยว หรือกลับบ้านไปพบกับครอบครัวช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ ยังเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปีแล้ว จนมีความเสี่ยงเกิดอาการป่วยจากอาการที่ร้อนและแห้งจัด เช่น อาการเพลียแดด ตะคริว ผิวหนังไหม้ ฯลฯ
โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่วางแผนออกไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งนานๆ ดังนั้น ก่อนที่เราจะออกไปเที่ยวกัน แอดมินจึงอยากให้ทุกคนศึกษา 6 เทคนิคดูแลตัวเอง รับมืออากาศร้อน เพื่อป้องกันอาการป่วย หรืออ่อนเพลียกัน มาดูกันเลย!
1 – ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ ใน 1 วัน
แม้ในขณะที่เราไม่ได้สัมผัสความร้อนจากแดดโดยตรง แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งกว่าปกติ จึงแนะนำให้เพิ่มการดื่มน้ำในแต่ละวัน เช่น หากปกติดื่มวันละ 1.5 ลิตร ก็ควรเพิ่มเป็น 2 ลิตร เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับของกิจกรรมและเวลาที่ใช้ในพื้นที่กลางแจ้ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการสูญเสียเหงื่อ
2 – ดื่มน้ำบ่อยๆ ทีละน้อยๆ
เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมน้ำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ควรดื่มน้ำครั้งละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ แทนการดื่มครั้งละมากๆ หลังจากไม่ได้ดื่มเป็นเวลานาน นอกจากจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ทันแล้ว ยังช่วยลดการปัสวะบ่อยจากการดื่มน้ำจำนวนมากอีกด้วย
3 – ทานผลไม้ชนิดเย็น
การทานผลไม้ชนิดเย็นที่เนื้อเยื่อมีความชุ่มชื่นสูง เช่น แตงโม แอปเปิล แคนตาลูป ส้ม องุ่น ฯลฯ จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น เพราะเป็นการเติมน้ำเข้าสู่ร่างกายไปพร้อมกับการเติมวิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์ในผลไม้เหล่านั้น
4 – เลือกเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าบางหรือโปร่ง ซึ่งจะสามารถระบายอากาศได้ดีกว่าเนื้อผ้าที่มีความทึบสูง นอกจากจะช่วยให้รู้สึกสบายตัวและลดความเหนอะหนะแล้ว ยังช่วยลดการกักเก็บความร้อนในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียน้ำเพิ่มได้
5 – หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มเย็นจัด
อากาศร้อนๆ แบบนี้ หลายคนจะรู้สึกดีมาก ถ้าได้ดื่มน้ำเย็นๆ ที่พึ่งออกจากช่องแช่แข็ง หรือใส่น้ำแข็งจำนวนมาก แต่นั่นคือพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากร่างกายมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 37 องศาเซลเซียส การบริโภคของเย็นจำนวนมาก จะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และดูดซึมน้ำได้ไม่ดี
6 – ทาครีมกันแดด
การทาครีมกันแดด ที่มี SPF 15 ขึ้นไป ไม่เพียงแค่ลดการเปลี่ยนสีของผิวเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากผิวหนังไหม้ และมะเร็งผิวหนังในระยะยาว ทั้งนี้ ความเข้มข้น หรือความถี่ในการทา ขึ้นอยู่กับระดับที่เราต้องปะทะกับแดด แต่แนะนำว่า ควรทาทุก 2 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดคงที่ตลอดทั้งวัน