ที่ดิน คือทรัพย์สินที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทั้งซื้อเพื่อเก็บ เก็งกำไร หรือส่งต่อเป็นมรดกสู่ลูกหลาน ด้วยเพราะมูลค่าที่มีแต่จะสูงขึ้นต่างจากทรัพย์สินประเภทอื่นๆ ซึ่งเมื่อก่อนต้นทุนในการดูแลที่ดินและอสังหาฯ มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยสูงนัก จนมีการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด ทำให้รัฐปรับลดอัตราภาษีมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2566 นี้ก็ได้มีการปรับลดอัตราภาษีเช่นเดียวกัน และเชื่อว่ายังมีหลายๆ คนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของภาษีที่ดินฉบับใหม่ปี 2566 นี้กันมากนัก บทความนี้จะพาคุณมาอัปเดตเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับปรับใหม่ล่าสุด ที่ดินแต่ละประเภทที่เราครอบครองอยู่ต้องจ่ายภาษีเท่าไร รวมถึงการจ่ายภาษีที่ดินมีขั้นตอนอย่างไร
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร?
รู้จักภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ใครต้องจ่าย คิดภาษีอย่างไร?
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่า “ภาษีที่ดิน” คือ ภาษีที่เรียกเก็บกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ที่ดิน ห้องชุด ฯลฯ ให้กับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในกรณีที่อยู่ต่างจังหวัด แต่ถ้าเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานครจะต้องจ่ายภาษีที่ดินกับสำนักงานเขต เพื่อเป็นเงินสำรองในการนำมาพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนให้มีการใช้งานที่เข้าถึงได้และใช้งานได้ในระยะยาว ซึ่งผู้ที่ครอบครองกรรมสิทธิ์จะต้องเป็นคนจ่ายภาษี ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นเจ้าของแค่ที่อยู่อาศัยก็ตาม
ประเภทของที่ดินที่ต้องเสียภาษีที่ดิน
ตามประกาศของพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ได้มีการปรับลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 15% ตามภาษีปี 2566 ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับการปรับลดคือเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยนั่นเอง
ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
สำหรับการเก็บภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัย จะเรียกเก็บจากรายชื่อในทะเบียนบ้านว่า บ้านที่อยู่อาศัยดังกล่าวใช้อยู่อาศัยเป็นบ้านหลักหรือไม่ ซึ่งหากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจะถือว่าเป็นที่อยู่อาศัยหลักทันที และหากมีการครอบครองที่อยู่อาศัยหลายที่ บ้านหลังอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของจะกลายเป็นบ้านรอง โดยอัตราการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของบ้านหลักและบ้านรอง มีดังนี้
สำหรับที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจะมีเพดานภาษีสูงสุดที่ 0.30% โดยหากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังเดียวหรือเรียกง่ายๆ ว่าบ้านหลังหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้นๆ จะได้รับการยกเว้นภาษีจากภาครัฐ หากที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในครอบครองมีราคาไม่ถึง 50 ล้านบาท แต่หากมีราคามากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องนำส่วนเกินไปคิดคำนวณและเสียภาษีตามอัตราปกติตั้งแต่ 0.03% – 0.1% ต่อปี
แต่สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง (คอนโดมิเนียมหรือสร้างบ้านอยู่บนที่ดินเช่า) ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินและมีชื่อในทะเบียนบ้าน (หลัก) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้นๆ จะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก หากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ถึง 10 ล้านบาท แต่หากมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาท ส่วนเกินจะต้องนำไปเสียภาษีตามปกติ ตั้งแต่ 0.02% – 0.1% ต่อปี และสำหรับคนที่มีบ้านหลายหลัง ไม่ว่าจะมีชื่อหรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ที่ดินหรือบ้านหลังที่ 2 จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ไม่มีการยกเว้น
ใครต้องเป็นคนจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ตามกฎหมายแล้วผู้ที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะต้องดูจากความเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นๆ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโด รวมถึงผู้ที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของภาครัฐด้วย ซึ่งสามารถดูได้ตามรายชื่อที่มีอยู่ในโฉนดที่ดิน ไม่ใช่ตามทะเบียนบ้าน โดยสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ผู้ครอบครองหรือกระทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ (สามารถเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้)
**หมายเหตุ : ในกรณีที่ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์เสียชีวิต คนในครอบครัวหรือญาติ เช่น ผู้จัดการมรดก ทายาทหรือผู้จัดการทรัพย์สินแทน จะต้องเป็นคนจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน
วิธีคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการปรับลดภาษีที่ดิน
สำหรับการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะใช้วิธีคำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น เช่น
ที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
- หามูลค่าที่ดินของทรัพย์สินก่อน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตรว.) x ขนาดพื้นที่ดิน
- หลังจากได้มูลค่าที่ดินมาแล้ว นำมาคำนวณกับสูตรภาษีที่ต้องชำระ = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- เริ่มจากหาราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตรว.) x ขนาดพื้นที่ดิน
- หามูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์ของโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตรม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา
- หลังจากได้ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว นำมาคำนวณกับสูตรภาษีที่ต้องชำระ = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี
ภาษีห้องชุด
- หามูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ (ต่อ ตรว.) x ขนาดพื้นที่ดิน
- หามูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตรม.) x ขนาดสิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา
- หาราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตรม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ต่อ ตรม.)
- หลังจากได้มูลค่าที่ดินมาแล้ว นำมาคำนวณกับสูตรภาษีที่ต้องชำระ = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สามารถปรับลดได้ 15 % ของภาษีที่ดินที่คำนวณได้
สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 ครม. มีมติเห็นชอบในการปรับลดภาษีที่ดิน 15 % เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ดังนี้
- ลดภาระภาษี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์โควิด-19
- สิ้นสุดระยะเวลาบรรเทาภาษี ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินใหม่ของประเทศรอบปี 2566 – 2569 เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 8% ทำให้คนไทยต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น
เลื่อนเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2567
หลังจากที่มีการประกาศปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2566 ตามที่เราได้ให้ข้อมูลครบถ้วนไปแล้วข้างต้น และเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชน ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2567 ออกไปอีก 2 เดือน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดทำและแจ้งต่อผู้เสียภาษี มีใจความสำคัญดังนี้
- จัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและแจ้งให้ผู้เสียภาษีทราบ จากเดิมภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นภายในเดือนมกราคม 2567
- ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดิน จากเดิมก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ไปเป็นวันที่ 1 เมษายน 2567
- แจ้งการประเมินภาษีให้กับผู้เสียภาษีทราบ จากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็น เดือนเมษายน 2567
- ผู้เสียภาษีสามารถดำเนินการเสียภาษีได้ในเดือนมิถุนายน 2567 จากเดิมเดือน เมษายน 2567 โดยสามารถผ่อนชำระงวดที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน 2567 (จากเดิมเดือนเมษายน 2567), งวดที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2567 (จากเดิมพฤษภาคม 2567) และงวดที่ 3 เดือน สิงหาคม 2567 (จากเดิมเดือนมิถุนายน 2567)
- ออกหนังสือแจ้งเตือนสำหรับผู้ที่ค้างชำระภาษีเดือนกรกฎาคม 2567 (จากเดิมเดือนพฤษภาคม 2567)
- แจ้งรายการภาษีที่ค้างชำระให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขาทราบภายในเดือน สิงหาคม 2567 (จากเดิมเดือนมิถุนายน 2567)
โทษปรับในกรณีเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ในกรณีที่เลี่ยงจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีโทษดังนี้
เบี้ยปรับ
กรณีที่เจ้าของที่ดินจ่ายค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ตรงตามกำหนดเวลา จะแบ่งเป็น 3 เคส ดังนี้
- ได้รับหนังสือแจ้งเตือนการชำระภาษี แต่เลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกำหนด จะถูกปรับ 40 % ของราคาชำระหนี้ที่เหลือ
- ได้รับหนังสือแจ้งเตือน แต่ไม่ได้ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเวลาที่กำหนด แต่ชำระภายในเวลาที่อยู่ในหนังสือแจ้งเตือน จะถูกปรับ 20 % ของราคาชำระหนี้ที่เหลือ
- ไม่ได้ชำระภาษีที่ดินในเวลาที่กำหนดและยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งเตือน จะถูกปรับ 10% ของราคาชำระหนี้ที่เหลือ
เงินเพิ่ม
เงินเพิ่ม คือ ดอกเบี้ยของอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จ่ายช้ากว่ากำหนด โดยจะถูกคิดเป็น 1% ต่อเดือน แต่หากได้รับข้อเสนอขยายเวลาชำระภาษีที่ดินและจ่ายภายในระยะเวลาที่กำหนด ดอกเบี้ยที่ถูกปรับเพิ่มจะลดลงเหลือ 0.5% ต่อเดือน
โทษทางอาญา
หากถูกตรวจสอบพบว่าส่งหลักฐานการชำระภาษีที่เป็นเท็จมายืนยันว่าชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว จะมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี พร้อมปรับเงิน 40,000 บาท ยกเว้นแต่ใบแจ้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทางนิติบุคคลเป็นคนทำผิดเอง จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง
ทั้งหมดนี้คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทุกคนควรรู้ เพราะเป็นกฎหมายที่เพิ่งปรับใหม่และมีผลบังคับใช้ออกมาได้ไม่นาน และยังมีเจ้าของที่ดินที่ครอบครองกรรมสิทธิ์หลายคนยังสับสนอยู่ว่า ภาษีที่ดินประเภทไหนบ้างที่จะต้องจ่ายหรืออัตราการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นอย่างไร วันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลเอามาไว้ให้แล้วในบทความนี้ ซึ่งใครที่กำลังมีแพลนจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ควรศึกษาเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ละเอียด จะช่วยให้คุณสามารถคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คุณจะต้องจ่ายได้อย่างรอบคอบนั่นเอง