ออริจิ้น-GUNKUL-บริทาเนีย กางแผน 3 ปี สร้าง “โซลาร์วิลเลจ” นำร่อง Private PPA ใน “แกรนด์ บริทาเนีย” สร้างอีโคซิสเท็มพลังงานสะอาด
ออริจิ้น-กันกุล-บริทาเนีย ต่อยอดสร้างปรากฏการณ์ความร่วมมือนวัตกรรมพลังงานสะอาดในที่อยู่อาศัย กางแผน 3 ปี หนุนหลากโครงการบ้านเดี่ยว “แกรนด์ บริทาเนีย” สู่ “โซลาร์ วิลเลจ” หวังสร้างความยั่งยืนให้ที่อยู่อาศัยสู่ Zero-Carbon Ecosystem ไตรมาส 1/2565
นำร่องติดตั้งโซลาร์รูฟแบบ Private PPA ใน 2 โครงการย่านราชพฤกษ์-พระราม 5 และบางนา กม.12 ก่อนขยายผลต่อเนื่อง ปี 66-67 จ่อนำแอป PARITY เอื้อลูกบ้านซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านบล็อกเชนและ Smart Contract แบบ Peer-to-Peer
ออริจิ้น-GUNKUL-บริทาเนีย กางแผน 3 ปี สร้าง “โซลาร์วิลเลจ” นำร่อง Private PPA ใน “แกรนด์ บริทาเนีย” สร้างอีโคซิสเท็มพลังงานสะอาด
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรเปิดเผยว่า หลังจากได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ภายใต้ชื่อ บริษัท ออริจิ้น กันกุล เอ็นเนอร์ยี จำกัด เพื่อร่วมกันดำเนินกิจการด้านพลังงานทดแทน/พลังงานสะอาดในโครงการที่อยู่อาศัย ล่าสุด บริษัทได้วางแผน 3 ปี (พ.ศ.2565-2567) ในการผลักดันให้เกิดหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ วิลเลจ)
ในกลุ่มธุรกิจบ้านจัดสรรภายใต้บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI บริษัทในเครือซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจบ้านจัดสรร โดยเฉพาะในโครงการบ้านเดี่ยวแบรนด์ แกรนด์ บริทาเนีย (Grand Britania) มุ่งเน้นติดโซลาร์รูฟในโครงการใหม่ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่โครงการรวม 30-50 ไร่ มียูนิตพักอาศัยรวม 100-200 หลัง ในแถบกรุงเทพฯและปริมณฑล พร้อมทั้งสร้างระบบที่ทำให้เรื่องพลังงานสะอาด เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนในชุมชน
“นวัตกรรมพลังงานสะอาดเป็นเมกะเทรนด์ที่เรามุ่งมั่นส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคในที่พักอาศัยทั้งในคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร โดยโซลาร์ วิลเลจ จะเป็นโมเดลสำคัญที่เกิดขึ้นกับโครงการบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่ในอนาคต ยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้บริโภค” นายพีระพงศ์ กล่าว
ด้าน นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI กล่าวว่า แบรนด์แกรนด์ บริทาเนีย มีความเหมาะสมต่อการติดตั้งโซลาร์รูฟและใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากที่อยู่อาศัยในโครงการส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว มีหลังคารูปทรงปั้นหยา ที่สามารถนำแผงโซลาร์เซลหันหน้ารับแสงอาทิตย์ในทิศทางที่เหมาะสมได้อย่างเต็มที่
โดยในเฟสแรกบริษัทจะเริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟและนำร่องสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระยะยาว หรือ Private PPA (Power Purchase Agreement) กับพื้นที่ส่วนกลางโครงการแกรนด์ บริทาเนียราชพฤกษ์-พระราม 5 และโครงการแกรนด์ บริทาเนีย บางนา กม.12 สร้างคุณค่าให้แก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการ ขณะเดียวกันในปี 2565 อาจมีการพิจารณาติดตั้งโซลาร์รูฟในรูปแบบ Private PPA กับโครงการแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นไปได้ด้วย โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)หรือ GUNKUL กล่าวว่า ในฐานะบริษัทผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจรและธุรกิจระบบไฟฟ้า GUNKUL จะเป็นผู้ลงทุนและผู้รับผิดชอบทั้งหมดในการออกแบบและก่อสร้างระบบโซลาร์รูฟเพื่อเป็นโครงการนำร่องสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระยะยาวหรือ Private PPA (Power Purchase Agreement) ในระดับพาณิชย์ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายให้กับส่วนกลางและโครงการบ้านอยู่อาศัยของบริทาเนีย ในอัตราค่าไฟที่ประหยัดยิ่งขึ้น
โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมทดสอบการทำงานของระบบภายในไตรมาส 1/2565 และต่อยอดบริการให้ครอบคลุมไปจนถึงบริการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงาน (Peer-to-Peer Energy Trading) ซึ่งความร่วมมือกับเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ในครั้งนี้จะไม่ใช่แค่เพียงการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกแต่เป็นการเน้นย้ำแนวคิด ENERGY x URBAN LIVING solution ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับการอยู่อาศัยและนำไปสู่การเป็น Zero-Carbon ecosystem ผ่านมิติของพลังงาน
“ความร่วมมือระหว่างผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ และผู้นำด้านพลังงาน จะเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความยั่งยืนในการอยู่อาศัยให้เกิดขึ้นได้จริง เป็น ENERGY x URBAN LIVING solution แห่งอนาคต” นายสมบูรณ์ กล่าว
ขณะที่ นางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุนและนวัตกรรม และ Team lead ของแผนกนวัตกรรมธุรกิจพลังงาน GUNKUL SPECTRUM กล่าวว่าสาเหตุที่บริษัทให้ความสนใจในการทำสัญญาซื้อขายพลังงานเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมEnergy-as-a-Service ค่อนข้างมากเนื่องมาจากข้อได้เปรียบของการที่ผู้บริโภคหรือเจ้าของบ้านสามารถเข้าถึงบริการด้านพลังงานได้อย่างหลากหลายโดยไม่มีเงินลงทุนเบื้องต้น ซึ่งบริษัทมองที่จะต่อยอดเฟสถัดไปในปี 2566-2567 เริ่มดำเนินการให้ลูกบ้านได้ทดลองแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงาน (Peer-to-Peer Energy Trading)
ที่ผลิตได้จากระบบโซลาร์รูฟของตนเองผ่านทางแอปพลิเคชัน PARITY ที่บริษัทพัฒนาขึ้น โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาสร้างชุดคำสั่งซื้อขายพลังงานอัจฉริยะ (Smart contract) ทำให้ไม่มีพลังงานไหนที่สูญเปล่าแต่สร้างมูลค่าในทุกยูนิตที่ผลิตได้ นับเป็นการให้เจ้าของบ้านได้สัมผัสกับประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่เจ้าตัวสามารถบริหารจัดการพลังงานและค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองควบคู่กันไปอย่างไร้รอยต่อ เช่นเดียวกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอื่นๆ และยังเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ในอนาคตผ่านพลังงานสะอาดอีกด้วย